เสมหะในคอ ที่ติดอยู่ในคออาจจะสร้างความรำคาญใจให้อยู่บ่อยครั้ง แต่รู้หรือไม่ว่าเสมหะในคอก็มีประโยชน์เช่นกัน โดยจะช่วยดักจับฝุ่น เขม่า ควันพิษ เชื้อโรคไวรัส แบคทีเรีย หรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ เพื่อปกป้องทางเดินหายใจ ป้องกันสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้าสู่ร่างกาย เมือกเหล่านี้ถ้าอยู่ในจมูกก็จะเรียกว่า “น้ำมูก” ถ้าอยู่ในคอก็จะเรียก “เสมหะ”

เสมหะในคอ มาจากไหน

เสมหะในคอ คือ สารคัดหลั่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาจากต่อมสร้างสารคัดหลั่ง ซึ่งอยู่ในเยื่อบุทางเดินหายใจ โดยเมื่อมีเสมหะในคอหรือในระบบทางเดินหายใจก็จะสร้างความรำคาญให้กับผู้ที่เป็นอย่างมาก เมื่อเกิดการระคายเคืองที่ระบบทางเดินหายใจ ร่างกายจะมีกลไกกระตุ้นการหลั่งเสมหะจากต่อมสร้างเสมหะออกมาเคลือบบริเวณลำคอ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเซลล์เยื่อบุ และหากหลั่งมากจะเกิดการรวมตัวเป็นเสมหะ หรือจับกันเป็นก้อนเหนียว
หลายคนจึงพยายามกำจัดออกด้วยการกระแอมหรือไอ ซึ่งตามปกติแล้ว เสมหะทั่วไปจะเกิดเพียง 2-3 ครั้งต่อวัน แต่หากใครที่มีเสมหะบ่อย ๆ หลาย ๆ ครั้งในหนึ่งชั่วโมง หรือมีความรู้สึกว่า มีเสมหะในคอตลอดเวลา รวมทั้งสังเกตสีของเสมหะว่าค่อนข้างไม่ปกติ อาจจะต้องเข้าพบหมอโดยด่วน เพราะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค

การหาสาเหตุของการมีเสมหะ

1.  การซักประวัติ

โดยแพทย์จะพยายามซักประวัติอาการทางจมูก และคอ, อาการทางหลอดลม และปอด, นิสัยส่วนตัว, สิ่งแวดล้อม,ยาที่ใช้,  การใช้เสียง และอาการที่อาจช่วยบ่งบอกถึงโรคที่เป็นสาเหตุของอาการกระแอม

2.  การตรวจร่างกาย

โดยเฉพาะการตรวจจมูก, โพรงหลังจมูก, คอหอยส่วนบน และล่าง, หลอดลม และปอด ซึ่งอาจช่วยในการวินิจฉัยสาเหตุของอาการกระแอม

3.  การส่งการสืบค้นเพิ่มเติม ได้แก่

  • การส่งเอ็กซเรย์ปอด (chest x-ray) เพื่อดูว่ามีพยาธิสภาพที่ หลอดลม และปอดหรือไม่
  • การส่งเอ็กซเรย์ไซนัส (sinus x-ray) เพื่อดูว่ามีไซนัสอักเสบหรือไม่
  • การทดสอบการทำงานของปอด (pulmonary function test) เพื่อดูว่ามีภาวะหลอดลมไวเกินผิดปกติ (bronchial hyperresponsiveness) ที่จะบ่งบอกว่าผู้ป่วยเป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือโรคหืดหรือไม่
  • การทดสอบภูมิแพ้ (allergy test) เพื่อดูว่าผู้ป่วย แพ้สารก่อภูมิแพ้ใด ที่อาจช่วยสนับสนุนว่าผู้ป่วยเป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือโรคหืดหรือไม่
  • การส่องกล้องตรวจในระบบทางเดินหายใจ และ/ หรือระบบทางเดินอาหารส่วนบน (upper airway endoscopy and/or esophagogastroscopy) เพื่อหาพยาธิสภาพในระบบทางเดินหายใจส่วนบน และ/ หรือหลอดอาหาร  กระเพาะอาหาร ที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกระแอม
  • การกลืนแป้ง (barium swallowing) ถ้าผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบาก  เพื่อดูว่ามีพยาธิสภาพในหลอดอาหารส่วนบน (เช่น Zenker’s diverticulum) และล่างหรือไม่
  • การตรวจค่าความเป็นกรด/ด่างในลำคอ และหลอดอาหาร (24-hour pH monitoring) เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง การรักษา

การรักษาด้วยการกระแอม

การมีเสมหะในคออาจรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการกระแอมนั้น เช่น ถ้าเกิดจากผลข้างเคียงของยา ก็ควรจะหยุดยาชนิดนั้น หรือถ้าเกิดจากโรคไซนัสอักเสบ  ก็ให้การรักษาไซนัสอักเสบ  ในกรณีที่สาเหตุเกิดจากการเรียนรู้ที่ผิดของผู้ป่วย อาจต้องปรึกษานักแก้ไขการพูด หรือนักฝึกพูด ซึ่งเป้าหมายในการรักษาอยู่ที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอยากจะกระแอมน้อยลง ซึ่งอาจทำได้โดย

  • เมื่อผู้ป่วยต้องการจะกระแอม ให้สูดหายใจอย่างเร็ว และแรง เข้าไปในคอ และกลืนเสมหะในคอลงไป วิธีนี้เป็นการกำจัดความรู้สึกว่ามีอะไรในคอที่ดีที่สุด
  • เมื่อผู้ป่วยต้องการจะกระแอม ให้หยุด อย่ากระแอม ให้ดื่มน้ำแทน ดังนั้นควรพกขวดน้ำติดตัวเสมอ น้ำเป็นยาละลายเสมหะที่ดีที่สุด การดื่มน้ำจะทำให้เสมหะในคอเหนียวน้อยลง และถูกกำจัดได้ง่ายขึ้น
  • เมื่อผู้ป่วยต้องการจะกระแอม ให้อมลูกอมที่ไม่มีสาร menthol เพราะจะช่วยเพิ่มน้ำลายและความชุ่มชื้นให้กับลำคอ
  • เมื่อผู้ป่วยต้องการจะกระแอม ให้พยายามกลืนไปเรื่อยๆ ราวกับว่าผู้ป่วยมีอะไรอยู่ในลำคอ จะช่วยลดความรู้สึกว่ามีอะไรอยู่ในลำคอลงได้
  • เมื่อผู้ป่วยต้องการจะกระแอม ให้ทำได้ แต่ควรทำด้วยความนุ่มนวล  ทำเงียบๆอย่าให้มีเสียงดัง ไม่กระแอมแรง ซึ่งอาจเกิดการบาดเจ็บต่อสายเสียงซึ่งมีขนาดเล็กได้ง่าย  ให้ผู้ป่วยปิดปาก และกระแอมช้าๆเพียง 1-2 ครั้ง เพราะจะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อสายเสียงน้อยที่สุด
  • เมื่อผู้ป่วยต้องการจะกระแอม ให้กลั้วคอด้วยน้ำโซดาแช่เย็นที่ไม่มีน้ำตาล
    ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องกระแอม ซึ่งเมื่อไม่กระแอม ก็จะทำให้ความรู้สึกว่ามีเสมหะในคอ ต้องกระแอมนั้นน้อยลง เป็นการตัดวงจรอุบาทว์ (vicious cycle) ที่จะทำให้ผู้ป่วยต้องกระแอมไปเรื่อยๆ   นอกจากนั้นควรแนะนำวิธีที่ทำให้ผู้ป่วยกระแอมน้อยลงโดย
  • ในหน้าหนาว หรืออยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศเป็นเวลานาน ควรใช้เครื่องปรับอากาศให้อุ่นและชื้นขึ้น (humidifier) หรือดื่มน้ำให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เยื่อบุลำคอที่แห้ง และระคายเคืองดีขึ้น
  • ถ้าต้องพูดบรรยาย หรือพูดเป็นระยะเวลานานต่อหน้าผู้คน อาจทำให้ปาก และคอแห้ง  ควรจิบน้ำอุ่นผสมน้ำมะนาว และน้ำผึ้งบ่อยๆ
  • การรับประทานอาหารมัน หรือผลิตภัณฑ์จากนม จะทำให้เสมหะในคอมีจำนวนมากขึ้น และข้นขึ้น  ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดังกล่าว

เสมหะในคอ

อาการที่มาจากการมีเสมหะในคอ

1. โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้

เนื่องจากเยื่อบุของผู้ป่วยโรคนี้มีความไวผิดปกติ (hyperreactivity of nasal mucosa)  เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งระคายเคืองต่างๆ จะกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในจมูก ซึ่งอาจไหลออกมาทางจมูกส่วนหน้า หรือไหลลงคอ (postnasal drip)  ซึ่งน้ำมูกที่ไหลลงคอ ก็จะกลายเป็นสเลด หรือเสมหะในคอนั่นเอง ซึ่งมักจะมีสีขาวใส หรือขุ่น  ยกเว้นเวลาเช้า เมื่อผู้ป่วยตื่นขึ้นมา อาจมีสีเหลืองขุ่นได้เนื่องจากมีการคั่งค้างของน้ำมูก หรือเสมหะ อยู่ในจมูก หรือคอเป็นระยะเวลานาน

 2. โรคไซนัสอักเสบ

เนื่องจากโรคนี้มีการอักเสบของเยื่อบุจมูก และไซนัส  ซึ่งจะมีการกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูก ให้มีเสมหะไหลลงคอได้เหมือน ข้อ 1  นอกจากนี้สารคัดหลั่งที่ออกจากไซนัส อาจผ่านรูเปิดของไซนัสในโพรงจมูกออกมา และไหลลงคอ กลายเป็นเสมหะได้ ซึ่งมักจะมีสีเขียว หรือเหลืองตลอดเวลา (มักบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อแบคที่เรีย)

 3. โรคกรดไหลย้อน

เมื่อกรดไหลขึ้นมาที่คอหอยจากหลอดอาหาร จะกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในคอให้ทำงานมากขึ้น ทำให้มีเสมหะในคอได้  นอกจากนั้นกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาที่คอ จะทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุลำคอ  ทำให้กลไกในการกำจัดเสมหะของเยื่อบุลำคอผิดปกติไป ทำให้มีเสมหะค้างอยู่ที่ลำคอได้  นอกจากนั้น ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอ และกล่องเสียง (laryngopharyngeal reflux) กรดไหลย้อนที่ออกไปนอกหลอดอาหาร อาจไปถึงเยื่อบุจมูกทางด้านบน และกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในโพรงจมูกให้ทำงานมากขึ้นทำให้นีน้ำมูก หรือมีเสมหะไหลลงคอได้

4. การใช้เสียงผิดวิธี

การที่ใช้เสียงในการพูดมาก มักทำให้ผู้พูดต้องหายใจทางปาก คล้ายกับการออกกำลังกายให้เหนื่อย ซึ่งจะมีการหายใจทั้งทางจมูก และปาก   จมูกซึ่งมีหน้าที่ปรับอากาศที่หายใจเข้าไปให้ชื้น และอุ่นขึ้น  และกรองสารระคายเคืองต่างๆในอากาศก่อนเข้าสู่ลำคอ จึงไม่ได้ทำหน้าที่   ทำให้อากาศที่ผ่านลำคอ แห้ง และเย็น ร่างกายอาจปรับตัว โดยสร้างเสมหะในคอขึ้นมามากขึ้น เพื่อทำให้ผนังคอชุ่มชื้นขึ้น  นอกจากนั้น สารระคายเคืองต่างๆในอากาศ อาจเข้าไปสัมผัสกับลำคอโดยตรง และไปกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะให้ทำงานมากขึ้นได้

 5. โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และโรคหืด

โรคทั้งสองดังกล่าวนี้ มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุหลอดลม ทำให้เยื่อบุหลอดลมของผู้ป่วยโรคนี้มีความไวผิดปกติ (hyperreactivity of bronchial mucosa)  เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งระคายเคืองต่างๆ จะกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในเยื่อบุหลอดลม ทำให้มีเสมหะในหลอดลม หรือคอตลอดได้

6. การติดเชื้อเรื้อรังบริเวณคอ

เช่นจากเชื้อรา, เชื้อวัณโรค, เชื้อซิฟิลิส, เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส  ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุลำคอ ซึ่งอาจกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในลำคอให้ทำงานมากขึ้น ทำให้มีเสมหะในคอได้

7. การระคายเคือง และ/หรือการบาดเจ็บเรื้อรังบริเวณลำคอ

เช่น  การสัมผัสสารเคมี, มลพิษ, สารระคายเคือง เนื่องจากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารเคมี  มลพิษ หรือสารระคายเคืองมาก, การสูบบุหรี่, การดื่มเหล้า  เบียร์  หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์, การไอ, การอาเจียนที่บ่อยและเรื้อรัง, เนื้องอกในลำคอ, พังผืด หรือแผลเป็นในลำคอ หรือแม้แต่การที่อยู่ในห้อง หรือสถานที่ที่มีอากาศเย็นมาก อาจทำให้เกิดการระคายเคือง หรือการบาดเจ็บเรื้อรังบริเวณลำคอ หรืออาจกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในคอ ให้ผลิตเสมหะออกมามากกว่าปกติได้

วิธีกำจัดเสมหะด้วยตนเอง

ปริมาณและความข้นหนืดของเสมหะที่มากขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตได้ ในเบื้องต้นอาจใช้วิธีธรรมชาติและการรับประทานยาเพื่อลดความข้นหนืดและปริมาณของเสมหะ ดังนี้

  • การกำจัดเสมหะด้วยวิธีธรรมชาติ

อาการไอ มีเสมหะ สามารถบรรเทาอาการด้วยตนเองได้ดังนี้

1. กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ

ทางการแพทย์เชื่อกันว่าน้ำเกลือมีสรรพคุณในการทำความสะอาด ลดการอักเสบ เพิ่มความชุ่มชื้น ซึ่งการกลั้วคอเบา ๆ ด้วยน้ำเกลือประมาณ 30-60 วินาที อาจช่วยให้ลำคอชุ่มชื้นและเสมหะหลุดออกได้ง่ายขึ้น หากมีอาการเจ็บคอและคออักเสบร่วมด้วยก็อาจใช้น้ำเกลือช่วยบรรเทาการอักเสบภายในลำคอและการติดเชื้อได้

2. ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม

การดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอต่อวัน โดยจิบน้ำเป็นประจำในระหว่างวันอาจช่วยลดความข้นเหนียวของเสมหะ ทำให้ขับออกได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะน้ำอุ่นและน้ำอุณหภูมิห้อง นอกจากนี้ การดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมยังช่วยให้ระบบภายในร่างกายทำงานได้เป็นปกติอีกด้วย

3. เพิ่มความชื้นภายในห้อง

อากาศที่แห้งและปริมาณความชื้นในอากาศที่น้อยกว่าปกติอาจส่งผลให้โพรงจมูกและลำคอขาดความชุ่มชื้นและเกิดการระคายเคือง เมื่อระบบทางเดินหายใจแห้งและระคายเคือง ร่างกายจะผลิตเสมหะมากขึ้นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นภายในลำคอ ในบางครั้งร่างกายอาจผลิตเสมหะมากเกินไปจนทำให้มีเสมหะติดค้างอยู่ในลำคอ ดังนั้น เพื่อป้องกันภาวะขาดความชุ่มชื้นภายในลำคอ อาจใช้เครื่องทำความชื้นหรือการเพิ่มความชื้นในอากาศด้วยวิธีอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มความชื้นของอากาศภายในห้องควรคำนึงถึงสภาพอากาศในแต่ละฤดูด้วย

4. รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสมุนไพร

มีสมุนไพรหลายชนิดเชื่อกันว่ามีสรรพคุณในการต้านโรค บรรเทาการอักเสบในลำคอ รวมถึงลดปริมาณเสมหะ ไม่ว่าจะเป็นมะนาว ขิง ชะเอม กระเทียม กานพลู และน้ำผึ้ง จึงอาจเลือกรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีวัตถุดิบเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ แต่ควรระวังไม่ให้รสชาติจัดจนเกินไป เพราะอาจทำให้ระคายคอมากขึ้นได้ รวมทั้งควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม อย่างชาร้อน น้ำซุป หรืออาหารอ่อนที่เหมาะกับผู้ที่ไม่สบาย

5. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น

อย่างที่ได้กล่าวไปว่าการมีเสมหะอาจมีสาเหตุจากการระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจ จึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงหรือกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น การสูบบุหรี่หรือการสูดดมควันบุหรี่ เป็นต้น หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็สามารถสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นควัน ละอองเกสรดอกไม้ หรือสารเคมี เพื่อป้องกันอาการระคายเคืองและอาการแพ้

  • การกำจัดเสมหะด้วยการใช้ยา

นอกจากวิธีธรรมชาติแล้ว วิธีละลายเสมหะอาจใช้ยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปได้ดังนี้

1. ยาละลายเสมหะ (Mucolytics)

ยาละลายเสมหะมีสรรพคุณลดความข้นหนืด ยากลุ่มนี้ทั้งแบบออกฤทธิ์กับเสมหะ และออกฤทธิ์ปรับสมดุลของต่อมผลิตเสมหะโดยตรง ซึ่งช่วยยับยั้งและป้องกันการเกิดของเสมหะผิดปกติ ทั้งแบบที่ข้นเหนียวกว่าปกติและแบบที่เหลวเกินให้กลับมาอยู่ในระดับปกติได้ โดยตัวยาชนิดนี้ยังกระตุ้นการทำงานของเนื้อเยื่อในลำคอ ช่วยให้ขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยาละลายเสมหะบางชนิดยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีสรรพคุณในการลดอักเสบอีกด้วย

2. ยาขับเสมหะ (Expectorants)

ยาชนิดนี้ออกฤทธิ์เพิ่มความชุ่มชื้นภายในลำคอ ส่งผลให้เสมหะชุ่มชื้นและอ่อนตัวลง ทำให้ขับออกมาได้ง่ายขึ้น อีกทั้งตัวยายังช่วยกระตุ้นอาการไอเพื่อให้ร่างกายสามารถขับเสมหะออกมาได้มากขึ้น เมื่อร่างกายขับเสมหะออกแล้ว อาการไอและเสมหะจะบรรเทาลง อย่างไรก็ตาม ยาในกลุ่มนี้อาจทำให้เกิดภาวะข้างเคียงอย่างระคายทางเดินอาหารหรือทำให้คลื่นไส้อาเจียนได้

ยาที่ใช้ขจัดเสมหะนั้นมีหลายรูปแบบ อย่างยาน้ำชนิดไซรัปหรือน้ำเชื่อมที่นิยมใช้กันมากทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และยาขับเสมหะชนิดผงที่ใช้ผสมน้ำสะอาดแล้วดื่ม โดยทั้งยาชนิดน้ำเชื่อมและชนิดผงละลายน้ำอาจช่วยให้เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีปัญหาในการกลืนรับประทานได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยาที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบอาจซึมเข้าสู่ร่างกายได้รวดเร็วกว่าชนิดเม็ดและชนิดแคปซูล อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกชนิด โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว

 

สุดท้ายนี้ อาการมีเสมหะในคอเป็นครั้งคราวอาจไม่ได้เป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง การรับประทานยาละลายเสมหะ จึงเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ซึ่งยาละลายเสมหะที่ดีที่สุดจริงๆ แล้วคือน้ำ ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาควรมาพบแพทย์หู คอ จมูก เพื่อซักประวัติ, ตรวจร่างกาย และส่งการสืบค้นเพิ่มเติม เพื่อให้ได้การวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุของเสมหะในคอที่ถูกต้อง

 

เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอื่นๆ ที่น่าสนใจ

 

ที่มาของบทความ

 

ติดตามเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพได้ที่  grupoexpositor.com

สนับสนุนโดย  ufabet369